วันศุกร์ที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2560

ดีเดย์ 5 เม.ย.ต้องรัดเข็มขัดในรถฝ่าฝืนปรับ 500-1,000 สงกรานต์เอาโอ่ง ถังน้ำ ขึ้นท้ายกระบะได้ แต่ห้ามคนนั่ง

loading...




เมื่อวันที่ 24 มีนาคม ที่กรมการขนส่งทางบก(ขบ.) พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมแถลงข่าวด่วน พร้อมผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีพล.ต.ท.วิทยา ประยงค์พันธ์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ต.สมชาย เกาสำราญ ผู้บังคับการตำรวจทางหลวง นายกอบชัย บุญอรณะ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย พ.ต.อ.ทินกร ณัฏฐมั่งคั่ง รองผู้บังคับการตำรวจจราจร และนายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กรณีที่เกี่ยวกับรายละเอียดใน ม.44 ฉบับที่ 14/2560 เรื่อง มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก
พล.ต.ท.วิทยา กล่าวว่า ม. 44 ที่ออกมาจะมีเรื่องของการห้ามจอดรถในที่ห้ามจอดด้วย ซึ่งในเรื่องนี้ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติขอเวลาไปกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับการดำเนินการ รวมถึงค่าปรับต่างๆก่อน จึงจะเริ่มดำเนินการจับปรับอย่างจริงจังต่อไป ส่วนเรื่องของการบังคับให้คบขับ รวมถึงผู้โดยสารรถยนต์ส่วนบุคคลและรถโดยสารสาธารณะต้องคาดเข็มขัดนิรภัยนั้น ในระหว่างวันที่ 21 มีนาคม -4 เมษายน 2560 นี้ ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเร่งทำการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบเกี่ยวกับคำสั่งตามมาตรา 44 ที่ออกมา หากพบเห็นผู้กระทำความผิดทางเจ้าหน้าที่พบเห็นจะเป็นการแจ้งเตือนก่อน ยังไม่มีการจับปรับตามกฎหมาย แต่ในวันที่ 5 เมษายน เป็นต้นไป จะไม่มีการแจ้งเตือนจากทางเจ้าหน้าที่ตำรวจอีกต่อไป เพราะจะดำเนินการจับปรับตามกฎหมายทันที เพราะถือว่าได้มีการแจ้งเตือนไปแล้ว

“เรื่องนี้ถือเป็นอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จะต้องบังคับใช้กฎหมายเพื่อให้ประชาชนเพื่อให้ได้รับความปลอดภัยจากการใช้รถใช้ถนน”พล.ต.ท.วิทยา กล่าว




loading...

พล.ต.ท.วิทยา กล่าวว่า สำหรับรถโดยสารสาธารณะนั้น ไม่ว่าจะเป็นรถแท็กซี่ รถตู้ หรือรถทัวร์ จะต้องแจ้งเตือนให้ผู้โดยสารรัดเข็มขัดนิรภัยก่อนรถออกด้วย หรือจะต้องมีการติดป้ายแจ้งเตือนให้ผู้โดยสารรัดเข็มขัดนิรภัยตลอดการเดินทาง หากคนขับรถแจ้งแล้วผู้โดยสารไม่ปฏิบัติตาม หรือปฏิบัติตามแล้ว ระหว่างทางปลดออก หากเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจพบก็จะต้องถูกปรับทั้งคนขับ และผู้โดยสาร ยกเว้นว่าทางคนขับได้ยืนยันแล้วว่าบอกให้ผู้โดยสารคาดเข็มขัดนิรภัยแล้ว แต่ผู้โดยสารไม่ยอมคาด ทางคนขับจึงจะไม่ถูกปรับ และจะปรับเฉพาะผู้โดยสาร โดยทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจะดูที่เจตนาเป็นหลัก

พล.ต.ท.วิทยา กล่าวว่า ทั้งนี้กรณีรถโดยสารสองแถว และรถสามล้อเครื่อง(ตุ๊กตุ๊ก)จะไม่มีการบังคับให้รัดเข็มขัด แต่จะมีมาตรการอื่นออกมาบังคับใช้เพื่อความปลอดภัยแทน เช่น การติดตั้งราวกั้นเพิ่มเติมเพื่อความปลอดภัย และการบังคับลดความเร็ว เป็นต้น

นายสนิท กล่าวว่า สำหรับอัตราค่าปรับของผู้ที่ไม่รัดเข็มขัดนิรภัยนั้น หากเป็นไปตามกฎหมายของกรมการขนส่งทางบก ซึ่งเป็นอำนาจของเจ้าหน้าของกรมการขนส่งทางบก ทางผู้ประกอบการจะต้องถูกปรับ 5 หมื่นบาท คนขับและผู้โดยสารปรับ 5 พันบาท แต่หากเป็นกฎหมายตาม พ.ร.บ.จราจร ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ตำรวจรับผิดชอบ รถโดยสารสาธารณะจะถูกปรับ 1 พันบาท ส่วนรถยนต์ส่วนบุคคลปรับ 500 บาท

นายสนิท กล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการปรับที่นั่งรถรถตู้โดยสารสาธารณะให้เหลือ 13 ที่นั่ง เพื่อให้ผู้โดยสารสามารถเคลื่อนตัวออกจากตัวรถได้ง่ายหากเกิดอุบัติเหตุขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีในเรื่องของความปลอดภัย โดยขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาในรายละเอียดว่าจะเอาที่นั่งตรงไหนออกไปบ้าง จากนั้นภายในวันที่ 5 เมษายน จะกำหนดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนออกมาเพื่อให้รถตู้โดยสารสาธารณะทุกคันนำไปปรับปรุงให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดต่อไป

นายสนิท กล่าวว่า ในส่วนของการคาดเข็มขัดนิรภัยนั้น มีประกาศกรมการขนส่งทางบกเรื่องการติดตั้งเข็มขัดนิรภัยและตำแหน่งที่นั่งเพื่อกำหนดคุณสมบัติและการติดตั้งเข็มขัดนิรภัย ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ พ.ศ. 2555 กำหนดให้รถยนต์ส่วนบุคคล รถแท็กซี่ และรถที่ใช้รับส่งจากสนามบิน(รถลีมูซีน) ที่จดทะเบียนตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2531 – วันที่ 31 ธันวาคม 2553 จะต้องติดตั้งเข็มขัดนิรภัยสำหรับที่นั่งของคนขับและที่นั่งตอนหน้ารถ ส่วนรถที่จดทะเบียนตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2554 เป็นต้นไป กำหนดให้ต้องติดตั้งเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง และสำหรับรถตู้ส่วนบุคคล รถปิคอัพ และรถสองแถว ที่จดทะเบียนตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2537 กำหนดให้ต้องติดตั้งเข็มขัดนิรภัยในที่นั่งของผู้ขับรถและที่นั่งตอนหน้า


นายสนิท กล่าวว่า ทั้งนี้รถตู้ส่วนบุคคลที่ผลิตหรือนำเข้าตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2555 เป็นต้นไป ต้องติดตั้งเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง สำหรับรถสี่ล้อเล็กรับจ้างที่จดทะเบียนตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2555 กำหนดให้ติดตั้งเข็มขัดนิรภัยเฉพาะที่นั่งด้านหน้าของคนขับและผู้โดยสาร โดยรูปแบบของเข็มขัดนิรภัยที่ต้องติดตั้งแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ คือ แบบรัดหน้าตักและรั้งพาดไหล่ ใช้สำหรับตำแหน่งที่นั่งผู้ขับรถ ที่นั่งตอนเดียวกับผู้ขับรถและที่นั่งตอนหลังผู้ขับรถริมสุด ส่วนที่นั่งระหว่างกลางเป็นเข็มขัดนิรภัยแบบรัดหน้าตัก (แบบคาดเอว)

ด้านพล.ท.สรรเสริญ กล่าวว่า ระหว่างนี้ทางเจ้าหน้าที่จะเร่งประชาสัมพันธ์เพื่อให้ประชาชนรับทราบเกี่ยวกับการคาดเข็มขัดนิรภัย ก่อนจะจับปรับจริงในวันที่ 5 เมษายนนี้ ไม่ว่าจะเป็นรถแท็กซี่ รถยนต์ส่วนบุคคลที่มีเข็มขัดนิรภัย ผู้โดยสารทุกคนต้องรัดเข็มขัดด้วย ส่วนรถกระบะจะห้ามไม่ให้นั่งด้านหลังจะให้นั่งเฉพาะห้องโดยสารเท่านั้น หากบอกว่าได้รับผลกระทบก็กระทบแน่นอน แต่เพื่อให้เกิดความปลอดภัยของประชาชน เพราะเมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้นมาแต่ละครั้งไม่ใช่เดือดร้อนเฉพาะตัวเอง ครอบครัว และรัฐก็ต้องจ่ายเงินดูแลรักษาด้วย

พล.ท.สรรเสริญ กล่าวว่า ส่งกรานต์ปีนี้ทางเจ้าหน้าที่ไม่ได้ห้ามนำโอ่ง หรือถังน้ำ ขึ้นท้ายรถกระบะ สามารถนำขึ้นได้ตามปกติ แต่จะต้องไม่มีคนไปนั่ง หรือยืนอยู่ท้ายรถ หากพบก็จะต้องถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับปรับแน่นอน โดยจะต้องนั่งรัดเข็มขัดนิรภัยอยู่ภายในห้องโดยสารเท่านั้น

ขอขอบคุณที่มาจาก: มติชนออนไลน์

Link:http://www.matichon.co.th/news/506907


loading...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น